ประวัติทางอุตุนิยมวิทยา ของ พายุไต้ฝุ่นเกย์ (พ.ศ. 2532)

แผนที่กำหนดพิกัดจุดของเส้นทางเดินของพายุ ตามมาตราแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน

ต้นเดือนพฤศจิกายน ร่องมรสุมเหนืออ่าวไทยแสดงสัญญาณของการกำเนิดพายุหมุนเขตร้อน บริเวณการพาความร้อนกระจุกขนาดเล็กก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือหย่อมความกดอากาศต่ำภายในร่องมรสุม แล้วในวันที่ 2 พฤศจิกายน ระบบดังกล่าวมีการจัดระเบียบเพียงพอให้ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม (JTWC) ออกประกาศการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อน[nb 3] ระบบเริ่มทวีกำลังแรงขึ้นภายในอ่าวแคบ ๆ เนื่องจากมีขนาดเล็ก โดยได้รับการส่งเสริมจากน้ำทะเลที่อุ่นและการไหลออกที่ดี ระบบเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือโดยทั่วไป วันต่อมาระบบดังกล่าวทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และภายในวันเดียวกันทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อพายุโซนร้อน เกย์ (Gay) ที่เพิ่งตั้งชื่อใหม่มีกำลังแรงขึ้น เรือโทไดแอน เค. คริตเท็นเด็น ระบุว่า "มันนำเสนอปฏิทรรศน์แก่นักพยากรณ์" เพราะข้อมูลระดับภูมิภาค (Synoptic data) จากประเทศมาเลเซียและไทยระบุว่าความเร็วลมรอบพายุลดลง และความกดอากาศรอบพายุเพิ่มขึ้น แต่การสังเกตดังกล่าวภายหลังมีการตีความว่าเป็นการจมตัวลง (subsidence) ที่เพิ่มขึ้น[3]

พายุเกย์ทวีกำลังแรงขึ้นเร็วกว่าที่คาดหมายไว้และกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นในวันที่ 3 พฤศจิกายน หลังจากนั้นตัวพายุพัฒนาตาก่อนเคลื่อนตัวผ่านเรือขุดเจาะน้ำมัน ซีเครสต์[3] วันที่ 4 พฤศจิกายน ความเร็วลมของพายุไต้ฝุ่นเกย์เพิ่มขึ้นเป็น 185 กม./ชม. (เทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนระดับ 3 ตามมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน) ก่อนพัดขึ้นฝั่งในจังหวัดชุมพรเมื่อเวลาประมาณ 06:00 UTC (13:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)[4] กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นประเมินว่าพายุมีความเร็วลมพัดต่อเนื่องสิบนาที 140 กม./ชม. และมีความกดอากาศ 960 มิลลิบาร์ (hPa; 28.35 นิ้วปรอท)[5][nb 4] ขณะที่พายุเกย์เคลื่อนตัวข้ามคอคอดกระนั้น พายุอ่อนกำลังลงเป็นพายุไต้ฝุ่นกำลังอ่อนเมื่อลงสู่อ่าวเบงกอล[3][4] กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย[nb 5] ระบุว่า พายุเกย์เป็นพายุไต้ฝุ่นลูกแรกนับตั้งแต่ปี 2434 ที่ก่อตัวขึ้นในอ่าวไทยแล้วเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอล[8] พายุตอบสนองกับแนวร่องที่อยู่ทางทิศเหนือของพายุ ทำให้พายุเกย์คงแนวเส้นทางไประหว่างทิศตะวันตก-ตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันตกเฉียงเหนือในอีกสี่วันถัดมา พายุค่อย ๆ กลับมามีกำลังดังเดิมอีกครั้งเมื่อเคลื่อนตัวผ่านบริเวณที่มีลมเฉือนต่ำและน้ำทะเลที่อุ่น อย่างไรก็ตาม การทวีกำลังของพายุถูกจำกัดด้วยการพัดออกของพายุหมุน[3] เช้าวันที่ 6 พฤศจิกายน พายุเกย์เคลื่อนผ่านหมู่เกาะอันดามันโดยเป็นพายุไซโคลนเทียบเท่าระดับ 2[4]

พายุไต้ฝุ่นเกย์ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนขึ้นฝั่งในคาบสมุทรมลายู

หลังจากที่พายุเกย์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเล็กน้อยในวันที่ 6 พฤศจิกายน พายุเกย์ได้กลับมาทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากแนวร่องที่อยู่ด้านเหนือของพายุมีกำลังแรงขึ้น และปัจจัยจำกัดการพัดออกก่อนหน้านี้ลดลง จากนั้นพายุเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกผ่านแนวน้ำทะเลอบอุ่นแคบ ๆ ซึ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับกระบวนการทวีกำลังแรงขึ้นอีกในระยะ 42 ชั่วโมงข้างหน้า เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน จากการประเมินตามวิธีในเทคนิคดีโวแร็ก ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมประเมินว่า พายุเกย์มีความรุนแรงสูงสุดเป็นพายุหมุนเขตร้อนระดับ 5 ด้วยความเร็วลม 260 กม./ชม.[3][4] ในขณะนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียประเมินว่า พายุมีความเร็วลมต่อเนื่องสามนาที 240 กม./ชม. และจัดได้ว่าเป็นพายุซูเปอร์ไซโคลนสมัยปัจจุบัน[1][9] นอกจากนี้ กรมฯ ยังประเมินความกดอากาศที่ศูนย์กลางของพายุไซโคลนว่าลดเหลือ 930 มิลลิบาร์ (hPa; 27.46 นิ้วปรอท)[10] เมื่อเวลาประมาณ 18:00 UTC พายุเกย์พัดขึ้นฝั่งในบริเวณที่มีประชากรเบาบางใกล้กับกาวาลี รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย เมื่อกำลังพัดขึ้นฝั่ง ตาพายุมีขนาดกว้างประมาณ 20 กิโลเมตร พร้อมระยะลมพายุกว้าง 95 กิโลเมตรนับจากศูนย์กลาง[3][11] เมื่อพายุอยู่บนแผ่นดิน ทำให้พายุเกย์ไม่ได้รับพลังงานจากน้ำอุ่นอีกต่อไป ทำให้พายุอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมงนับจากพัดขึ้นฝั่ง[3] และพายุยังคงสลายตัวอย่างต่อเนื่องขณะเคลื่อนที่ข้ามประเทศอินเดีย ก่อนจะสลายตัวลงอย่างสมบูรณ์เหนือรัฐมหาราษฏระในวันที่ 10 พฤศจิกายน[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พายุไต้ฝุ่นเกย์ (พ.ศ. 2532) http://www.adrc.asia/countryreport/THA/THAeng98/in... http://articles.latimes.com/1989-11-09/news/mn-144... http://articles.latimes.com/1989-11-11/news/mn-100... http://adsabs.harvard.edu/abs/2003BAMS...84..635R http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcmaxim... http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcrainf... http://www.imd.gov.in/section/nhac/static/cyclone-... http://nidm.gov.in/idmc2/PDF/Presentations/Cyclone... http://nellore.ap.nic.in/jccourt/Assignment/E5_331... http://www.thaiscience.info/Article%20for%20ThaiSc...